วารสารธรรมมาตา ปีทีี่ ๖ ฉบับที่ ๒ กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ๒๕๕๕ อยู่กับความทุกข์ให้เป็น พระไพศาล วิสาโล
แบ่งปันบน facebook Share
| |
มนุษย์เราทุกคนล้วนรักความสุขเกลียดความทุกข์กันทั้งนั้น สิ่งที่มนุษย์พยายามทำกันตลอดชีวิตก็คือการเข้าหาความสุข พยายามหนีจากความทุกข์ เมื่อพบทุกข์ก็พยายามขจัดปัดเป่าออกไป หรือพยายามป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ถือว่าเราโชคดีกว่าคนสมัยก่อนเพราะเทคโนโลยีในการขจัดปัดเป่าความทุกข์มีมากขึ้น เวลาอากาศร้อนก็มีพัดลม มีเครื่องปรับอากาศ บรรเทาความร้อน อากาศหนาวก็มีผ้าห่ม ในบ้านหลายคนมีเครื่องทำน้ำอุ่น อยากจะดื่มน้ำร้อนก็ต้มได้รวดเร็ว จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องขี่เกวียนให้เหนื่อยเพราะมีรถยนต์ สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้นอย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราสามารถหนีความทุกข์ ขจัดปัดเป่า หรือบรรเทาความทุกข์ได้มากมายเพียงใด แต่ว่ายังมีความทุกข์อีกหลายอย่างที่เราหนีไม่พ้น เราทำได้เพียงชะลอหรือหน่วงเหนี่ยวให้เกิดขึ้นช้า ทุกวันนี้มี ความทุกข์แบบใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะร่ำรวยมีเงินมีทอง มีวาสนาบารมีมากแค่ไหนก็ต้องเจอกับความทุกข์อยู่นั่นเอง เช่น ถึงแม้ร่ำรวยก็ต้องเจอกับความสูญเสีย อาจจะเสียคนรักคนใกล้ชิด เพราะว่าไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ ถึงอย่างไรเขาก็ต้องตายจากเราไปสักวัน พวกเราคงรู้จักทัชมาฮาล ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่พระเจ้าพระเจ้าชาห์จาฮาน ผู้ยิ่งใหญ่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับมเหสีคนรัก แต่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถหลีกหนีความสูญเสียคนรักไปได้ ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย เรื่องนี้เกิดได้กับทุกคน นอกจากนั้นยังต้องเจอกับคำนินทาว่ากล่าว ไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องเจอกับความไม่สมหวัง ต้องเจอความแก่ความเจ็บความตาย อันนี้คือความทุกข์ที่ไม่มีใครหนีพ้น แม้ว่าเราจะตัดเรื่องความแก่ความเจ็บความตายออกไป ก็ยังเจอกับความทุกข์อีกหลายอย่าง เช่นงานการที่ไม่สำเร็จ หรือความผิดหวัง ถ้าคนเราคิดแต่จะหนีความทุกข์ หรือหาทางปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ตลอดเวลา ก็เตรียมใจทุกข์ได้เลย เพราะว่ายังมีความทุกข์อีกหลายอย่างที่เราต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขจัดปัดเป่าไปเพียงใดก็ไม่สำเร็จ ยกตัวอย่างง่ายๆ คนอยู่กรุงเทพ ฯ ก็ต้องเจอรถติดซึ่งเป็นความจริงที่หนีไม่พ้น หาที่จอดรถได้ยาก มีนักเขียนชาวอเมริกันคนหนึ่งเขียนประชดว่า “ตายไม่ยากเท่ากับหาที่จอดรถ” คนนี้เขาอยู่ที่นิวยอร์ค เป็นเมืองที่หาที่จอดรถยากยิ่งกว่ากรุงเทพฯ มันไม่ใช่เป็นความทุกข์ทางกาย แต่เป็นทุกข์ใจที่คนสมัยนี้เจอ เคยพูดแล้วว่าความทุกข์ทางกายเดี๋ยวนี้มีน้อยลง แต่ความทุกข์ทางใจไม่ได้ลดลงเลย ยังมีอยู่เรื่อยๆ เช่น หาที่จอดรถไม่ได้ก็ทุกข์ ต้องแย่งกันจนกระทั่งฆ่ากันตายก็มี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าเพียงใด เราก็หนีความไม่สมหวังไม่พ้น ถ้ายิ่งร่ำรวยยิ่งมีเงินทองมากก็ยิ่งมีความอยากมากขึ้น เมื่อมีความอยากมากก็มีโอกาสไม่สมอยากมากเป็นเงาตามตัว มีคนพูดว่าเมื่อมีความอยากมากก็มีความทุกข์มาก เพราะความอยากกับความทุกข์มาด้วยกัน ก็ลองพิจารณาดู คนเราไม่ว่าจะหนีความทุกข์เพียงใดก็ต้องเจอความทุกข์วันยังค่ำ ความทุกข์ทางกาย แม้ว่าจะมีสิ่งระงับหรือบรรเทาอาการ แต่ในที่สุดก็ต้องเจอทุกขเวทนาอันแรงกล้าจนยาก็เอาไม่อยู่ อย่างเช่น โรคมะเร็ง ที่หลายๆ คนกลัว หรือแค่ปวดฟัน ปวดหัว ปวดท้อง พอมีอาการเกิดขึ้นแล้ว จะไปพึ่งยาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ยิ่งมีความทุกข์ใจผสมโรงด้วยก็จะทุกข์มากยิ่งขึ้น ในเมื่อความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราหนีไม่พ้น อย่างในบทสวดมนต์มีตอนหนึ่งกล่าวว่า ว่าเราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เรามีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ถึงแม้ตอนนี้เราจะสุขสบาย ไม่ทุกข์ แต่นั่นเป็นเพราะมันยังไม่แสดงตัว แต่ก็รอโอกาสแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เรามีสุขภาพดีก็อย่าคิดว่าไม่มีความเจ็บป่วย แท้จริงแล้วความเจ็บป่วยอยู่กับเราตลอดเวลา พอเราเผลอเมื่อไหร่มันก็จะแสดงตัวออกมา ในทำนองเดียวกันความแก่ก็อยู่กับเราตลอดเวลา แม้ว่าตอนนี้เรายังหนุ่มยังสาวแต่มันก็รอโอกาสแสดงตัว เผลอเมื่อไหร่ก็ผิวหนังย่น ผมหงอก ตกกระ กำลังวังชาลดน้อยถอยลง ความตายก็เช่นเดียวกัน ถ้าเผลอเมื่อใดมันมาทันที เพียงแค่เดินลงบันไดไม่ระมัดระวัง ตกลงมาหัวฟาดพื้นก็ตาย มันมีโอกาสเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว ความเจ็บป่วยมีอยู่ในความไม่ป่วย และความตายมีอยู่ในชีวิต มันไม่ได้แยกกัน อย่างเมื่อวานพวกเราจัดดอกไม้ได้สวยงาม แต่ในเวลาเดียวกันกิจกรรมนี้ก็เตือนให้เห็นถึงความโลภในใจเรา บางคนเอากิ่งไม้แห้งใบไม้แห้งมาจัด ทำให้เห็นว่าสิ่งไม่งามนั้นก็มีความงามอยู่ ในทางกลับกันคือ ในสิ่งที่สวยงามก็มีความไม่งามเช่นกัน ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย ความสุขของเราก็เช่นกันจะมีความทุกข์แฝงอยู่ตลอดเวลา ดังที่กล่าวแล้วว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ อย่างเช่น ตอนนี้เราเจอความหนาวเย็น เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยไม่ทุกข์ ก็คือทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ อันนี้เราทำได้ ถ้าเราทำไม่ได้ก็จะมีแต่ความหงุดหงิดความไม่พอใจเกิดขึ้น เพราะเราไม่สามารถบังคับหรือควบคุมให้ทุกอย่างเป็นตามใจเราได้ แม้กระทั่งร่างกายของเรา เรายังบังคับควบคุมให้ตัวเองไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ได้ การอยู่กับความทุกข์นั้นทำได้หลายวิธี ทั้งการมองในแง่บวก การปล่อยวางยอมรับมัน หรือการปรุงแต่งใจในทางที่ดี อย่างเช่น บุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งนำพัสดุไปส่ง แต่ประตูบ้านปิดเขาจึงเรียกให้เจ้าของบ้านออกมารับ แต่เจ้าของบ้านไม่อยากออกมาเพราะว่าไม่อยากเจออากาศร้อน บุรุษไปรษณีย์ก็รอเจ้าของบ้านมารับ แต่แทนที่จะรอเฉย ๆ ก็ร้องเพลงไปด้วย จนกระทั่งในที่สุดเจ้าของบ้านต้องออกมารับพัสดุ เสร็จแล้วเธอก็ถามบุรุษไปรษณีย์ว่าอากาศร้อนๆ อย่างนี้ คุณมีอารมณ์ร้องเพลงได้อย่างไร เขาตอบว่า “โลกร้อน แต่ใจเราเย็น มันก็เย็นครับ ร้องเพลงเป็นความสุขของผมอย่างหนึ่ง ส่งไปร้องไป” นี่เป็นวิธีหนึ่งในการอยู่กับความร้อนได้โดยใจไม่ทุกข์ แม้เขาร้อนจนเหงื่อไหลชุ่ม แต่ใจเขาไม่ทุกข์ เพราะเขารู้วิธีผ่อนคลายด้วยการร้องเพลงให้ใจเย็น ความร้อนจึงไม่เป็นปัญหา อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้อยู่กับความทุกข์ได้คือสติ เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการปรุงแต่งใจหรือปลอบใจตัวเองก็ได้ แต่ใช้สติคือรู้ทันจนปล่อยวางมันได้ ความปวดกายที่เกิดขึ้น ถ้าเราเผลอก็จะปวดใจตามมา เวลาเจออากาศร้อน ไม่ใช่ร้อนกายอย่างเดียวแต่ร้อนใจไปด้วย เพราะว่าจิตไม่ปล่อยวางความปวด แถมปรุงแต่งไปในทางลบอีก คนเราเวลาเจอทุกขเวทนาใจก็มักปรุงแต่ง บางทีแค่เห็นหรือสัมผัสนิดหน่อยก็เอาไปปรุงแต่งแล้ว กลายเป็นความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ส่วนความทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของใจ เวลาความทุกข์เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราปฏิเสธผลักไสก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ แต่ถ้าเรามีสติดูใจ คือดูความคิดที่ปรุงแต่ง เห็นใจที่ขุ่นเคืองตีโพยตีพาย หรือเห็นทุกขเวทนาจนปล่อยวางได้ เมื่อนั้นความทุกข์ก็จะคลายไป มีความสงบมาแทนที่ เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ ที่วัดป่าสุคะโต ในช่วงเดือนธันวาคม ท้องฟ้าเปิด อากาศร้อนมาก เรามีการเดินธรรมยาตรา คนที่มางานนี้ต้องเดินกลางแดดวันละสี่ห้าชั่วโมงเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ดูแลลำธาร รักษาป่า ขณะเดียวกันก็ฝึกตนให้อยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ คืออยู่กับความร้อนแต่ใจไม่บ่น จึงมีคำขวัญว่า “กายร้อนแต่ใจไม่ร้อน” หรือ “ร้อนแต่กาย ใจสงบเย็น” ที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการหาความทุกข์ใส่ตัว แต่เป็นการเดินเข้าหาความทุกข์เพื่อฝึกใจให้อยู่กับความทุกข์ได้ คนที่มีปัญญาเมื่อรู้ว่าหนีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่พ้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ความทุกข์เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้จักอยู่กับมันให้ได้ จนเห็นมันเป็นมิตร ถ้าเราเป็นมิตรกับทุกขเวทนาได้ เราก็ไม่ต้องร้อนใจ นี่เป็นเรื่องที่เราสามารถฝึกได้ในชีวิตประจำวัน นักปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ให้ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความอดทน ดีกว่านั้นก็คืออยู่กับมันโดยอาศัยสติ คือรู้ทันใจที่ปรุงแต่งเวลามีความทุกข์กาย จนใจเป็นปกติได้แม้กายจะทุกข์ก็ตาม คนเราสามารถรักษาใจให้สงบแม้กายจะปวดได้ อาตมาเคยนำนักปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งเดินจงกรมทุกเช้า ไม่ได้เดินธรรมดา แต่เดินเท้าเปล่าตามทางที่มีกรวด เดินวันแรกหลายคนรู้สึกปวดเท้า แถมยังเจอยุงเวลาเดินผ่านสวน เวลายุงเกาะตามแขนตามตัว มันยังไม่ทันกัดเลย หลายคนก็ทุกข์ล่วงหน้าไปแล้ว นั่นเป็นเพราะใจปรุงแต่ง ยิ่งพอโดนมันกัด ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ อาตมาก็แนะให้เขาดูความกลัวที่เกิดขึ้นเวลายุงเกาะ หรือดูใจที่ผลักไส ใจที่บ่นโวยวายเวลาเวลาโดนยุงกัด ที่จริงร่างกายเราทนได้แต่ใจต่างหากที่ทนไม่ได้ เพราะเราหนีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา พอเจอเข้าก็ผลักไสอย่างเดียว ไม่รู้จักอยู่กับมันด้วยอาการสงบ หลังจากเดินได้สามสี่วัน หลายคนก็ทำใจได้ดีขึ้น รู้ทันเวลาใจมีปฏิกิริยาทางลบต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น แต่อุปสรรคไม่ได้มีแค่นั้น พอใกล้ถึงวันสุดท้ายมีฝนตกพรำ ๆ แต่เช้า มดแตกรังออกมาเพ่นพ่านตลอดทาง พอเดินจงกรมผ่าน มดก็ไต่มาตามร่างกาย มีเสียงปัดมด บางคนคนก็กระทืบเท้าเพื่อสลัดมดออกไป ไม่มีอาการสำรวมเลย อาตมาจึงย้ำว่าที่จริงร่างกายเราทนได้ แต่ใจต่างหากที่ไม่ยอมทน ทั้ง ๆ ที่ทนได้เหมือนกัน จึงแนะให้เขาดูปฏิกิริยาของใจเวลาโดนมดกัด วันรุ่งขึ้นหลายคนก็ลองทำอย่างที่อาตมาแนะนำ ใจก็สงบมากขึ้น ผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่า เธอเดินมาหยุดตรงรังมดพอดี เห็นความกลัวเกิดขึ้น เพราะมีสติเห็นความกลัว ความกลัวก็คลายไป ทีนี้พอมดกัด เธอก็เห็นความเจ็บเกิดขึ้น ทั้งเจ็บทั้งร้อน เหมือนโดนธูปจี้เธอก็ดูเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วยังเห็นต่อไปด้วยว่ากล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น เม้มปากกัดฟัน กะพริบตา แล้วเธอกลับมาดูใจ เห็นใจกระสับกระส่าย พอเห็นเท่านั้น ใจก็สงบลง ถ้าเป็นคนที่ยังไม่ผ่านการฝึกมา พอมดกัด ใจจะพุ่งไปที่มดด้วยความโกรธเคือง แต่นักปฏิบัติคนนี้ไม่ส่งจิตออกไปนอกตัว แต่กลับมาดูกายและใจของตน ทำให้ใจสงบ รู้สึกผ่อนคลาย ทั้ง ๆ ที่โดนมดกัด แม้รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อมีสติใจก็สงบ ตอนแรกเธอก็แปลกใจว่าทำไมใจสงบได้ ทั้งๆ ที่ความเจ็บปวดยังมีอยู่ แล้วเธอก็รู้ว่ากายกับใจนั้นเป็นคนละส่วนกัน ความเจ็บเป็นเรื่องของกาย แต่ใจไม่จำเป็นต้องเจ็บด้วย เมื่อพบว่าใจสามารถสงบได้แม้กายจะปวด เธอก็ดีใจมาก บอกขอบคุณมด แทนที่จะโกรธมด เธอเรียกมดว่าเป็นอาจารย์ของเธอ ผู้หญิงคนนี้อยู่กับความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่เพราะความอดทน แต่เพราะใช้สติเป็นเครื่องรักษาใจ ปกติเวลาเราเจอสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องเดินหนีมด หรือไม่ก็ทำร้ายมด แต่เนื่องจากเธอต้องเดินจงกรมอยู่ในแถวจะเดินหนีมดก็ไม่ได้ ตบมดก็บาป ก็เลยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บปวดให้ได้ นั่นก็คือใช้สติช่วยให้ปวดแต่กาย ใจไม่ปวด คนส่วนใหญ่เวลามีอะไรมากระทบกาย ใจก็ทุกข์ไปด้วย อันนี้รวมถึงเรื่องความไม่สมหวังด้วย แต่ถ้าหากไม่อยากเป็นทุกข์ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกข์ให้ได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ ซึ่งรวมถึงเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเศร้า เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเบื่อให้ได้ โดยไม่ต้องวิ่งหนีมัน เพราะการทำเช่นนั้นบางครั้งไม่ได้แก้ปัญหาจริง เพราะไป ๆ มา ๆ กลับวิ่งไปหาความทุกข์ มีลูกของเพื่อนคนหนึ่งมาปรึกษาว่าเพิ่งเลิกกับแฟน เพราะแฟนเป็นคนเจ้าชู้ แต่เธอก็ยังกลับไปหาเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้ชายคนนี้คบไม่ได้ เธอบอกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ มันเหงา จึงอดไม่ได้ที่จะกดโทรศัพท์ไปคุยกับผู้ชายคนนั้น เธอบอกว่าทรมานใจมากเวลาอยู่คนเดียว เธอพยายามหนีความเหงาแต่กลับวิ่งไปหาคนที่ไม่ซื่อต่อเธอ ถ้าเอาแต่หนีความเหงาแบบนี้ก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์จากความเหงาได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเหงาให้ได้ ด้วยการมีสติเห็นมัน สติทำให้เราเห็นว่า ใจเหงา ไม่ใช่ฉันเหงา การปรุงแต่งจะไม่เกิดขึ้นถ้าเรามีสติ แต่ถ้าเรามีสติ ก็จะไม่ปรุงว่าฉันเหงา ฉันปวด ฉันเศร้า ที่จริงไม่มีฉันผู้เหงา ผู้ปวด ผู้เศร้า มันมีแต่ความเหงา ความปวด ความเศร้าเท่านั้นที่เกิดขึ้น วิธีการอยู่กับความทุกข์ด้วยสติ ต้องเริ่มต้นจากความตระหนักว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความเผลอ ความลืมตัว ความไม่มีสติ เมื่อใดที่เราลืมตัว ตัวตนก็เกิดขึ้น พูดอย่างนี้พอเข้าใจไหม ถ้าตอนนี้ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ให้ลองสังเกตดูว่าเมื่อใดที่ลืมตัว ตัวตนก็จะเกิดขึ้น เช่น เรารู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนก็เพราะลืมตัว ถ้าใจไม่มีสติ ก็จะปรุงแต่งตัวตนให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้เราหมั่นดูกาย ดูใจ ดูเวทนา ด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ คือดูเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ผลักไสไม่ไขว่คว้า ถ้าเราดูกาย ดูใจ ดูเวทนาเวลามันเกิดขึ้นโดยไม่ปรุงแต่งมัน หรือไม่มีปฏิกิริยาต่อมัน ก็จะเห็นว่ามันมีอยู่ แต่ทำอะไรใจเราไม่ได้ แม้กายจะทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ ต่อไปเราก็จะเป็นมิตรกับความทุกข์ ความเหงา ความเศร้าได้ เพราะต่างคนต่างอยู่ ไม่มารังควาญใจเรา ถ้าเรารู้จักอยู่กับความทุกข์ได้ เมื่อถึงคราวที่เราจะตาย เราก็จะยอมรับมันได้ ความตายก็ทำอะไรเราไม่ได้ เราสามารถเป็นมิตรกับความตายได้ ถึงตอนนั้นความตายจะไม่ใช่สิ่งน่ากลัวต่อไป อันนี้เป็นศิลปะในการดำเนินชีวิต อะไรก็ตามที่เราหนีไม่พ้น เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ นี้คือศิลปะการอยู่ในโลกนี้อย่างไม่ทุกข์ |
Saturday, April 05, 2014
อยู่กับความทุกข์ให้เป็น
Subscribe to:
Posts (Atom)