เคล็ดลับอายุยืนเกิน 100 ปี “กินอาหารพื้นบ้าน ไม่เสพสิ่งมึนเมา”
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 เมษายน 2548 11:35 น.
มหาวิทยาลัยบูรพา ศึกษาวิถีชีวิตผู้มีอายุเกิน 100 ปี ของจังหวัดชลบุรี ในเขตเทศบาลเมือง พบรูปแบบการใช้ชีวิตเรียบง่าย ชอบรับประทานอาหารพื้นบ้าน มีไขมันต่ำ ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สิ่งที่ผู้สูงอายุภูมิใจคือ ได้อาศัยอยู่บ้านเรือนตนเอง อยู่กับลูกหลาน ด้าน “นพ.เฉก” แนะทางอายุยืนยาว มีความ “พอใจ” และ “พอ” ในสิ่งที่ตนเองมี เรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับตัว เข้าร่วมกิจกรรม อย่าลืมเก็บออมเงินในวัยหนุ่มสาวให้พอมีพอกินไปตลอดชีวิต
รศ.ดร.กชกร สังขชาติ ข้าราชการบำนาญ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2547 ตนได้ร่วมกับ ดร.สมโภชน์ อเนกสุข ภาควิชาการศึกษานอกระบบและภาควิชาวิจัยและวัดผลการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิจัยรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเกิน 100 ปี ของจังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษารูปแบบการดำรงชีวิตให้มีอายุยืนเกิน 100 ปี เปรียบเทียบรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุเกิน 100 ปี ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์บริหารการทะเบียน ภาค 2 ระบุว่า จังหวัดชลบุรี มีผู้อายุเกิน 100 ปี ณ วันที่ 21 เมษายน 2547 จำนวน 118 คน จึงเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชลบุรี จำนวน 10 คน เป็นหญิง 8 คน เป็นชาย 2 คน ทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก กลุ่มตัวอย่างไม่ได้ประกอบอาชีพ ลูกหลานให้เงินทองใช้จ่าย สถานภาพหม้าย ไม่มีโรคประจำตัว 8 คน ที่เหลือ 2 คน เป็นอัมพาตและโรคเรื้อรังร่วมกับอัมพาตผลการศึกษาพบว่า วิถีชีวิตของคนอายุเกิน 100 ปี จะนอนกลางวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง ส่วนใหญ่หลับสนิท สภาพปากและฟันทั้ง 10 คน ฟันหลุดหมดทั้งปากแล้ว จากการพูดคุยพบว่า ร้อยละ 80 มีความจำดี ความสามารถมองเห็น การได้ยินดี ร้อยละ 50 มีบางส่วนที่ตาฝ้าฟางและหูตึงบ้าง“กิจวัตรประจำวันของผู้มีอายุเกิน 100 ปี ที่พบคล้ายคลึงกันคือ ลูกหลานให้รับประทานอาหารตรงเวลา มีสุขภาพดี ขับถ่ายทุกวัน มีบางคนท้องผูก กินผลไม้ผักบ้างพอสมควร จะกินข้าวเช้า 7-8 โมงเช้า ข้าวกลางวันระหว่างเที่ยงถึงบ่ายโมง ส่วนข้าวเย็น จะประมาณ 5-6 โมงเย็น ชอบรับประทานอาหารพื้นบ้าน ผู้ที่ช่วยตัวเองได้จะอาบน้ำ ล้างหน้าเอง บางคนลูกหลานจะคอยช่วย การออกกำลังกายทำได้น้อย มียกแขน ยกขาบ้าง บางคนชอบกวาดบ้าน ล้างจาน ผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ไม่มีใครดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เลยดื่มน้ำธรรมดา ไม่ใส่น้ำแข็ง ดื่มน้ำอุ่น” รศ.ดร.กชกร กล่าวรศ.ดร.กชกร กล่าวด้วยว่า ผู้สูงวัยเกิน 100 ปี ที่ช่วยตนเองได้จะชอบทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบหรือประทับใจในอดีต ภูมิใจที่ลูกหลานมาหาและที่ตนเองอายุยืน มีความสุขที่ลูกหลานให้เงินทองมีส่วนน้อยที่หวาดระแวงว่าจะมีคนมาขโมยเงินและไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวาย ส่วนกลุ่มที่ช่วยตัวเองไม่ได้จะชอบกิจกรรมที่ทำให้ตนเองมีความสะอาด รู้สึกผ่อนคลาย ภูมิใจที่ได้อยู่บ้านตัวเอง หรือบ้านลูกหลาน ภูมิใจที่ลูกหลานประสบผลสำเร็จในชีวิต“สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาคุณลักษณะของผู้สูงอายุไทยที่มีอายุเกิน 100 ปี 156 คน เมื่อปี 2539 ได้รวบรวมเป็นข้อควรปฏิบัติ 9 ประการ เพื่อสุขภาพดี อายุยืนยาว ได้แก่
1.อาบน้ำทุกวัน แปรงฟันสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
2.กินอาหารสะอาดวันละ 3 มื้อ ครบ 5 หมู่
3.ออกกำลังกาย 3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละนิด ไม่เกิน 30 นาที
4.ดื่มน้ำสุกสะอาด อย่าให้ขาดวันละ 6-8 แก้ว
5.พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง ปลอดโปร่งแจ่มใส
6.งดสิ่งเสพติด คบหาญาติมิตร ใกล้ชิดครอบครัว
7.ดูแลบ้านเรือน ของใช้ เสื้อผ้าให้สะอาด น่าใช้
8.ตรวจสุขภาพให้ถ้วนถี่ปีละครั้งอย่างน้อย และ
9.ฝักใฝ่ธรรมะ ประกอบกรรมดี อารีต่อทุกคน ซึ่งการมีสุขภาพดี กินอาหารพื้นบ้าน ไขมันต่ำ อยู่ครอบครัวขยาย มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ศาสนา พันธุกรรม ไม่ติดยาเสพติด ทำให้อายุยืน” รศ.ดร.กชกร กล่าวด้าน นพ.เฉก ธนะสิริ แกนนำชมรมอยู่ร้อยปีชีวีเป็นสุข กล่าวว่า การจะเป็นผู้สูงอายุที่ทรงพลัง อายุยืนต้องมีความพอใจและพอในสิ่งที่ตนมี ตื่นเช้าขึ้นมาให้ยิ้มกับตนเอง ชื่นชมตนเอง ทำตัวเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นคนรับ ทำตัวให้เข้าได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย เรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ เข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัว ชุมชน ชมรม ตามโอกาส ตามสภาพร่างกาย ประการสำคัญต้องสร้างความมั่นคงเรื่องการเงิน ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว อย่างน้อยต้องมีพออยู่พอกิน ถ้าจะเริ่มเก็บเงินเมื่อแก่จะไม่ทันกาล การมองโลกในแง่ดี มีพลังชีวิต อยากมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ จะเป็นพลังให้คนเรารักตัวเอง เกิดพฤติกรรมสุขภาพดี คือ กินอาหารเหมาะสม ออกกำลังกายพอเหมาะ แต่สิ่งที่พุทธศาสนานิกชนพึงตระหนักไว้คือ กฎแห่งกรรม คนทำดีย่อมได้ดี ขอให้หมั่นสร้างสมแต่กุศลกรรม
ดังนั้น ทางมูลนิธิรณรงค์ช่วยให้เลิกบุหรี่และสารเสพติดจึงจำเป็นต้อง เร่งรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยเลิกบุหรี่และสารเสพติดให้ได้โดยเด็ดขาด
สำหรับผู้ที่สนใจ เลิกบุหรี่และสารเสพติดสามารถติดต่อได้ที่ "มูลนิธิรณรงค์ช่วยให้เลิกบุหรี่และสารเสพติด"
โทร. Tel : 0-28076477-79, Fax : 0-28076781
-------------------------------------------------------------------------------------------
ของขวัญวันแม่ที่แม่ต้องชอบเพราะเป็นกล่องเพลงแบบ Vintage บรรจุเพลงสุนทราภรณ์ถึงกว่า 2000 เพลง...อ่านต่อ!!!
No comments:
Post a Comment